แนะนำ ประวัติ ผลงาน และทัศนะ

 

   

ประชาธิปไตยเมืองไทยแบบพรรคเดียวกำลังละม้าย สถานการณ์อดีตเผด็จการประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย   

“เศรษฐาณานิคม”: วิวัฒนาการการล่าอาณานิคมจาก“อิสต์อินเดีย” ของอังกฤษในยุคเดิม มาเป็น“เทมาเสก”ของสิงคโปร์ในยุคโลกาภิวัฒน์    

  ดร.ทักษิณเก่งจริง หรือมีอะไรเป็นปัจจัยเกื้อหนุน--บุญวาสนา ความสามารถ โอกาส หรือการผู้ขาด?   

สาระสำคัญที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ: สาระที่อาจต้องใช้อำนาจตามมาตรา 7 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง    

ผู้ว่าซีอีโอ-ความสับสนในการบริหารราชการแผ่นดิน ระหว่างการบริหารราชการกับการบริหารราชกิจ  

คุณลักษณะ ๑๐ ประการสำหรับผู้นำประเทศ   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“เศรษฐาณานิคม”: วิวัฒนาการการล่าอาณานิคมจาก“อิสต์อินเดีย” ของอังกฤษในยุคเดิม มาเป็น“เทมาเสก”ของสิงคโปร์ในยุคโลกาภิวัฒน์

โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์[1]

รูปแบบการล่าอาณานิคมในยุคเดิมมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปในยุคโลกาภิวัตน์ กล่าวคือ ในอดีตการล่าเมืองขึ้นกระทำโดยการใช้กำลังทหาร แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการล่าเมืองขึ้นโดยการใช้เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ทำให้ประเทศผู้ล่าเข้าไปมีอำนาจครอบงำทางความคิด การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศที่เป็นเป้าหมาย

การล่าอาณานิคมโดยใช้การศึกษาและวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ความคิด ลัทธิและค่านิยมของประชาชนในประเทศที่ถูกล่าเพื่อให้เห็นดีเห็นงาม ชื่นชมลัทธิ การเมืองการปกครอง ความรู้ ค่านิยม การศึกษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศผู้ล่า เช่น กลุ่มประชาธิปไตยก็ชื่นชมสหรัฐอเมริกา กลุ่มสังคมนิยมในอดีตก็ชื่นชมรัสเซีย  ส่วนหนึ่งไปพร้อมกับการล่าเมืองขึ้นด้วยอาวุธ และส่วนหนึ่งอยู่ในรูปของการให้ทุนการศึกษาและการให้ความช่วยเหลือประเทศที่เป็นเป้าหมาย

การล่าเมืองขึ้นด้วยการให้การศึกษาและวัฒนธรรม เป็นรูปแบบที่มีการต่อต้านน้อยที่สุด เพราะอาศัยความเจริญมั่งคั่งเป็นเครื่องจูงใจ เมื่อได้อำนาจครอบครองประเทศใด ผู้ครอบครองก็บังคับให้ประชาชนที่เป็นเมืองขึ้นศึกษาเล่าเรียนภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีของตน สร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นว่า ภาษาและวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเหนือหรือดีกว่าภาษาหรือวัฒนธรรมของตนเอง เช่น อังกฤษบังคับให้อินเดีย พม่า ฯลฯ เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสบังคับให้ลาว เขมร เวียตนาม ฯลฯ เรียนภาษาฝรั่งเศส

ทั้งนี้การเข้าครอบครองก็มีเป้าหมายสำคัญในการดูดกลืนทรัพยากรของเมืองขึ้นไปใช้ในประเทศของตน ตัวอย่างทีชัดเจนที่สุด คือ การที่อังกฤษอาศัยบริษัทอิสต์อินเดีย เป็นฐานเข้าไปครอบงำอินเดียเพื่อรับสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ เครื่องเทศ โดยมีการจัดตั้งกองกำลังเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทขณะเดี่ยวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือบุกรุก สู้รบ และครอบครองเมืองใหญ่น้อยในอินเดีย

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนของประเทศด้อยพัฒนาด้วยการให้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในประเทศเจ้าของทุน เมื่อกลับมาก็รับความรู้ ความชื่นชม ศาสตร์และวิทยาการของประเทศเจ้าของทุนกลับมาบ้านเมืองของตนและนำมาใช้พัฒนาประเทศชาติโดยไม่ปรับเปลี่ยนเพราะเห็นว่า ความรู้เหล่านั้น “วิเศษ” กว่าของตนเองที่บรรพบุรุษสั่งสมมา ร้ายไปกว่านั้นก็คือ การเห็นว่า ภาษาต่างประเทศดีกว่า “โก้” กว่าภาษาตนเอง จึงภาคภูมิใจที่จะพูดภาษาฝรั่งปนภาษาของตนเอง เมื่อเดินทางกลับประเทศของตนแล้วก็พกเอาวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่ได้รับการถ่ายทอดกลับมาด้วย และรู้สึกว่า เป็นคนทันสมัยที่มีความเป็นอยู่แบบฝรั่งหรือประเทศที่ตนได้ไปร่ำเรียนมา

คนที่ไม่มีโอกาสส่งบุตรธิดาไปต่างประเทศ ก็ยินดีส่งบุตรธิดาเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ เพื่อจะให้ได้สัมผัสอะไรๆ ที่เป็นฝรั่ง และยกตนเองเหนือชาวไทยทั่วไปที่ไม่มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศหรือเรียนในโรงเรียนนานาชาติเหล่านั้น

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งที่แม้จะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง แต่ชาวไทยจำนวนไม่น้อยก็จะชื่นชมภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป จนมองเห็นภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยเป็นของโบราณและล้าสมัย

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการล่าเมืองขึ้นข้างต้นก็เป็นความเต็มใจของผู้รับที่จะได้รับการศึกษาที่ก้าวหน้าเพื่อนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองของตนเอง แต่การล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ที่เป็นผลจากการเปิดประเทศตามโลกาภิวัตน์ คือ การใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า เข้ามาครอบงำ ประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่า อาจจะเรียกว่า “เศรษฐาณานิคม” (Economic Colonization)

            “เศรษฐาณานิคม” เป็นการล่าอาณานิคมที่ประเทศหนึ่งเข้าไปมีอำนาจครอบงำเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่ง ด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาเขตปลอดภาษี การค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ และการขายชาติของบางคนบางกลุ่ม จนทำให้ธุรกิจของประเทศหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการขนาดใหญ่ของประเทศอื่นที่เป็นเป้าหมาย จนมีอำนาจในการบริหารและการจัดการธุรกิจเหล่านั้น เมื่อมีอำนาจทางธุรกิจมากขึ้น ก็มีอำนาจต่อรองว่า จะต้องมีอำนาจทางทหารเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจของตนในประเทศนั้น ที่อันตรายที่สุด ก็คือ การครอบงำโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเครื่องมือรักษาความมั่นคงของชาติ ได้แก่ โทรคมนาคม เช่นดาวเทียมไทยคม (ชื่อพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปเป็นประธานในการยิงดาวเทียมดวงแรกที่เฟรนช์ กิยานา) โทรศัพท์มือถือ กิจการโทรทัศน์ ธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านจัดสรร และการได้สิทธิครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัย เช่น การเป็นเจ้าของสนามกอลฟ์ คอนโดมิเนียม เป็นต้น

            ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็ถือเป็นการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่โดยใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของสิงคโปร์ โดยกองทุนเทมาเสก ซึ่งเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ เทมาเสกมีนโยบายที่จะหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของ“เทมาเสก”หากเทียบกันแล้ว เทมาเสกแตกต่างจากอิสต์อินเดียของอังกฤษ ตรงที่ไม่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ใช้อำนาจเงินและความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเข้ามาครอบงำธุรกิจของไทยในรูปของการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจของบริษัทคนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐  

การเข้าครอบงำเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นเหยื่อเศรษฐาณานิคม เกิดสาเหตุอย่างน้อย ๔ประการ กล่าวคือ จากจุดอ่อนของกฎหมาย การกำหนดเงื่อนไขพิเศษโดยการอ้างความเจริญทางเศรษฐกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการเปิดตลาดหลักทรัพย์

            ประการแรก จุดอ่อนทางกฎหมายเกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อเอื้อให้ต่างชาติเข้าครอบงำ เช่น การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติจากร้อยละ ๒๕ เป็น ร้อยละ ๔๙ กระนั้นแม้กฎหมายไทยจะกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ ๔๙ แต่ในทางพฤตินัย ต่างชาติก็อาจครอบครองได้มากกว่า โดยอาศัยชื่อคนในชาติที่ยอมเป็นเครื่องมือในการลงนามในสัญญา หรือพลิกแพลงเพื่อให้แลดูว่า ต่างชาติถือหุ้นได้เพียงแค่ตามที่กฎหมายกำหนด         

ประการที่สอง การกำหนดเงื่อนไขพิเศษโดยการอ้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การจะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ยังไม่ผ่านรัฐสภานั้น จะเปิดโอกาสนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาดที่จะออกกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ได้ และอาจเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเช่าเขตพิเศษนั้นได้นานถึง ๙๙ ปี ก็ถือว่า เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่คนไทยด้วยกันเอง เปิดประตูรับต่างชาติเข้ามาครอบครองดินแดนของตนเอง

            ประการที่สาม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองธุรกิจของไทย เพื่อจะผู้ถือหุ้นได้รับผลประโยชน์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น กองทุนทั้งหลายก็มีโอกาสเข้ามาครอบงำธุรกิจต่างๆ เหล่านั้นได้ เช่นเดียวกับการครอบครองธุรกิจโทรคมนาคมของชินคอร์ป จนกระทั่งเกิดการประท้วงชาวไทยบางกลุ่มที่พยายามจะปลดแอกธุรกิจของคนไทยให้รอดพ้นจากการถูกครอบงำของสิงคโปร์

ประการที่สี่ การเปิดตลาดหลักทรัพย์ให้ต่างชาติเข้ามาซื้อขายได้อย่างเสรี เปิดช่องว่างให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจสำคัญของชาติ โดยเฉพาะในด้านโทรคมนาคม ดังที่กองทุนเทมาเสกได้เข้ามาครอบครองธุรกิจหลายอย่างของไทยและกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

ที่น่าเศร้าใจก็คือ รัฐบาลไทยยอมให้สิงคโปร์เข้ามาตั้งฐานทัพและฝึกทหารในเมืองไทย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสิงคโปร์ ก็ถือเป็นการยินยอมให้ต่างชาติเข้ามามีอธิปไตยเหนือประเทศไทย

            การถูกครอบงำจนเป็นเมืองขึ้นเป็นการทำลายความมั่นคง ความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรีความเป็นชาติ แม้เมืองไทยจะไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่การขายธุรกิจที่เป็นความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีคนไทย ก็เปรียบได้กับการกลายเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เข้ามาครอบงำธุรกิจสำคัญของประเทศไทย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องปกป้องรักษาอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติ ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลายเป็นไส้ศึก ขายชาติขายแผ่นดินของตนเสียเอง.    

ปทุมวัน

๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙ ๑๒.๕๐ น. 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร. ชัยยงค์ พรหมวงศ์

ศาสตราจารย์ ระดัีบ ๑๑

(ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ ทางการศึกษา คนที่ ๒ ของประเทศไทย)

หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเป็นผู้พัฒนาระบบการสอนทางไกล "แผนมสธ." (อ่านรายละเอียด)

อุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

 อนุกรรมาธิการอุดมศึกษา วุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒรธรรม วุฒิสภา

อดีต:

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองอธํิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า

ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

UNESCO/UNDP Expert (Indonesia, Sri Lanka, Maldives, Laos, Malaysia, Japan, India, Pakistan)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

k

 
FastCounter by bCentral
Created:  February, 2006

E-mail: chaiyong@irmico.com

โปรดติดตามที่นี่!!!

เสนอทัศนะทางเศรษฐกิจและการเมือง การศึกษา ธรรมะกับชีวิต ศิลปะวัฒนธรรม ประวัติและผลงาน การวิจัย พระพุทธอุบัติภูมิ งานสร้างสรรค์ทำให้มสธ. ฯลฯ ทุกสัปดาห์